วิธีแบ่งมรดก
1. ทายาทได้แก่ใครบ้าง
2. ทายาทโดยธรรมได้แก่ใครบ้าง
3. การแบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมแบบง่ายๆทำได้อย่างไร
4. ทายาทใดได้รับส่วนแบ่งอย่างไร
5. ทายาทชั้นใดได้รับมรดก
6. ทายาทลำดับเดียวกันได้เท่านั้น
7. ทายาทที่เป็นคู่สมรสคือสามีหรือภริยาของเจ้ามรดกบ้าง
8. ภริยาหลวงภริยาน้อยตามกฎหมายมีสิทธิในมรดกอย่างไรหรือไม่
9. ลองมาแบ่งมรดกของผู้ตายกัน
10.ถ้าไม่มีทายาทมรดกให้แก่ใคร
11. อายุความมรดก


วิธีแบ่งมรดก
เมื่อเจ้ามรดกตาย ปัญหาที่มีอยู่เสมอคือการแบ่งมรดกของเจ้ามรดกให้แก่ทายาทว่ายาทในระดับใดจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในมรดกและจะได้เท่าใด แต่มักจะเถียงว่าตัวเองมีสิทธิได้มากกว่าบุคคลอื่นบ้างหรือว่าบางคนไม่มีสิทธิบ้างเป็นต้น ก่อให้เกิดปัญหามาสู่ศาลเสมอ
ดังนั้น หากบุคคลใดเข้าใจในเรื่องสิทธิในการรับมรดกแล้วก็จะช่วยให้ลดปัญหาที่จะโต้เถียงกันในเรื่องนี้ไปเป็นอันมาก จึงเสนอเรื่องง่ายๆ เบื้องต้นของการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยทั่วๆไป เพื่อประโยชน์ที่จะใช้งานทางปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ ดังนี้


1. ทายาทได้แก่ใครบ้าง
สำหรับทายาทของผู้ตายนี้ มิได้กำหนดไว้ว่ามีใครบ้าง ก็ต้องมองดูจากเจ้ามรดกไปเริ่มจากญาติใกล้ตัวเจ้ามรดกไปจนถึงห่างออกไป และก็รวมถึงคู่สมรสของเจ้ามรดกด้วย หรือเจ้ามรดกจะทำเป็นหนังสือกำหนดว่าเมื่อตายลงแล้ว ให้มรดกของตนตกได้แก่ใครก็ได้ ฉะนั้นจึงแบ่งทายาทออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย หมายความว่าพวกนี้กฎหมายกำหนดเลยว่าได้แก่ใครบ้าง เช่น บุตรของผู้ตาย บิดามารดาของผู้ตาย คู่สมรสของผู้ตาย พวกนี้พอเจ้ามรดกตายปุ๊บก็ได้ปั๊บทันทีดังที่กล่าวแล้ว ทายาทประเภทนี้เรียกกันว่า ทายาทโดยธรรม ซึ่งประกอบด้วยทายาทที่เป็นญาติ เช่น ผู้สืบสันดานอันได้แก่บุตรของผู้ตายเป็นต้น และทายาทที่เป็นคู่สมรสคือภริยาหรือสามีของผู้ตาย อีกประเภทหนึ่งคือทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม คือเป็นเรื่องของผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ซึ่งอาจเป็นคนอื่นก็ได้คือจะทำยกให้ใครแม้ไม่ใช่ญาติของตนก็ได้ เรียกทายาทประเภทนี้กันว่าผู้รับพินัยกรรม


2. ทายาทโดยธรรมได้แก่ใครบ้าง
ทายาทโดยธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทายาทที่เป็นญาติกับที่เป็นคู่สมรสที่เป็นญาติ ได้แก่ ญาติของผู้ตายต่อไปนี้ เรียงลำดับกันจากใกล้ชิดสนิทที่สุด
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
เช่นนาย ก. มีบุตรสองคนได้แก่ นาย ข. และ ค. และมีบิดามารดา ได้แก่นายเอก นางโท พี่และน้องคือนายดำ นายแดง ดังนี้ หากนาย ก. ตาย ทายาทโดยธรรมของนาย ก. ที่ยังมีชีวิตอยู่ ลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน ก็คือ นาย ข. นาย ค. บุตรของนาย ก. ลำดับที่ 2 บิดามารดาก็คือนายเอก นางโท บิดามารดาของนาย ก. ลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ก็คือ นายดำ นายแดง พี่ชายน้องชายของนาย ก. ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงทายาทที่เป็นญาติก็จะมีถึงหกลำดับนี้เท่านั้น ห่างจากนี้ไปก็ไม่ใช่ทายาทแล้ว แต่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกทุกลำดับหรือไม่ ต้องดูกันต่อไปอีกชั้นหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงทายาทของผู้ตายก็ต้องเอาผู้ตายเป็นหลักคือศูนย์กลางดังตัวอย่างที่ยกขึ้นก็จะเห็นได้ง่ายๆ
ส่วนทายาทที่เป็นคู่สมรสยิ่งง่ายใหญ่ คือ สามีหรือภริยาของผู้ตายนั้นเอง ทายาทประเภทนี้ถือว่าอยู่ในลำดับเดียวกับทายาทที่เป็นญาติทุกลำดับ คือ มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายตลอด เช่น ขณะนาย ก. ตาย มีลูกสองคน และมีนางแดงเป็นภริยา ถือว่าผู้ตายมีทายาทโดยธรรม คือลูกสองคนและนางแดงภริยาผู้ตายมีสิทธิได้รับมรดก หรือขณะที่ นาย ก. ตายมีทายาท ลำดับที่ 6 คือ ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ และมีนางแดงภริยายังมีชีวิตอยู่ฉะนั้นทายาทของผู้ตายได้แก่ ลุง ป้า น้า อา และนางแดง ภริยาซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกแต่กรณีหลังนี้นางแดงก็จะได้ส่วนแบ่งมากขึ้นเท่านั้น


3. การแบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมแบบง่ายๆ ทำอย่างไร
เรื่องการแบ่งมรดกก็ดีหรือใครเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในมรดกนี้ก็ดี หากใครรู้ว่าตนมีสิทธิหรือไม่เพียงใด ก็จะเป็นการดี ถ้ารู้ว่าไม่มีสิทธิแล้วก็จะได้ชิดซ้ายไปไม่มายุ่งกับเขาหรือผู้มีสิทธิถ้ารู้ว่าตนจะได้ส่วนแบ่งเท่าใดก็ได้อีกเช่นกัน ไม่ต้องมาแย่งชิงกัน หรือไม่ใช่เลือกเอาแต่ของดีๆ เช่น จะเอาบ้านหลังนั้นบ้างละ ที่ดินแปลงโน่นบ้างละ ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วทายาทที่มีสิทธิทุกคนถือว่าเป็นเจ้าของมรดกร่วมกันทุกชิ้น แม้เข็มเล่มเดียวของเจ้ามรดก ทายาทก็เป็นเจ้าของร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งปันกันแล้วเสร็จ จึงจะถือว่าที่แบ่งให้ใครไปแล้วเป็นของคนนั้น


4. ทายาทใดได้รับส่วนแบ่งอย่างไร
ตามแผนผังต่อไปนี้ก็เป็นวิธีการแบ่งว่าเขาแบ่งมรดกกันอย่างไร โดยให้หลักทั่วๆไป ก่อนว่า ทายาทที่เป็นญาติซึ่งมีอยู่ 6 ลำดับ นับแต่ผู้สืบสันดานไปจนถึง ลุง ป้า น้า อา นั้นหากทั้ง 6 ลำดับยังมีชีวิตอยู่ ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิรับมรดกทุกคนไม่ เพียงแต่อยู่ในข่ายหรือเป็นทายาทที่อยู่ใกล้ตัวเจ้ามรดกหน่อยเท่านั้น เรียกว่าพอมีความหวังหรือได้ลุ้นบ้าง ถ้าหากให้มีสิทธิพร้อมกันทั้ง 6 ลำดับ แบ่งเสร็จสรรพก็อาจได้คนละหกสลึงเท่านั้น จึงสำทับไปอีกว่า ทายาทที่อยู่ลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เว้นแต่ (1) กับ (2) ไม่ตัดกัน ก็เอาเจ้ามรดกเป็นศูนย์กลาง ถ้าดูลำดับแล้ว ลำดับ (1) คือผู้สืบสันดาน ลำดับ (2) คือ บิดามารดา ลำดับ (3) คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จนถึงลำดับ( 6) คือ ลุง ป้า น้า อา
ทั้งหมดนี้คือทายาทที่เป็นญาติโกโหติกาของเจ้ามรดกหรือผู้ตายนั่นเอง ลำดับแรกคือ (1) ได้แก่ผู้สืบสันดาน คือ ลูกของเจ้ามรดก ถัดไปอีก คือพ่อแม่ นั่นเอง ถัดไปไม่มีสิทธิก็หมายความว่า มีทายาทหลายลำดับแล้ว ลำดับที่มาก่อนจึงจะมีสิทธิรับมรดก แต่ก็ยกเว้นกันเพียงสองลำดับ คือ ลูกเจ้ามรดก (ทายาทลำดับที่หนึ่ง) กับพ่อแม่เจ้ามรดก (ทายาทลำดับสอง) สองประเภทนี้ไม่ตัดกันคือได้ทั้งคู่ เรียกกันว่าทายาทลำดับหนึ่งกับลำดับสองไม่ตัดกัน ก็สมควรนะครับ เจ้ามรดกตายที่ใกล้ตัวเจ้ามรดกที่สุดนอกจากสามีภริยาเขาแล้วก็พ่อแม่และลูกเขานั่นเอง
ทีนี้ถ้าขณะตายเจ้ามรดกเป็นโสดมีแต่พ่อแม่ (อันดับสอง) และพี่น้องร่วมบิดา
มารดาเดียวกัน (อันดับสาม) เช่นนี้ ผู้ได้รับมรดกก็คือพ่อแม่เท่านั้น ทายาทอันดับถัดลงไป คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันนั้นไม่มีสิทธิ จำง่ายๆ มีอันดับสองแล้วอันดับถัดไปคือสามก็ไม่มีสิทธิหรือมีอันดับสามแล้ว อันดับถัดไปคือสี่ไม่มีสิทธิไล่กันไปเรื่อยๆ


5. ทายาทชั้นใดได้รับมรดก
นอกจากลำดับทายาทของเจ้ามรดก ก็ยังมีชั้นของทายาทอีก อันนี้ก็มีปัญหาเหมือนกันคือทายาทลำดับหนึ่งได้แก่ผู้สืบสันดานของเจ้ามรดกนั่นเอง แต่ผู้สืบสันดานก็ประกอบด้วย ลูก หลาน เหลน ลื้อ ของเจ้ามรดกมีตั้งหลายชั้น คำว่าผู้สืบสันดานนั้น มีทั้งชั้นลูกของตัว ชั้นหลาน ชั้นเหลน ชั้นลื้อ อีก เรื่องนี้มีข้อสงสัยกันอยู่ เพราะอันดับอื่นๆ ก็คงไม่ต้องสงสัยความจริงในเรื่องนี้ท่านขยายความเรื่องผู้สืบสันดานไว้ว่า ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันบุตรของเจ้ามรดกชั้นสนิทที่สุดมีสิทธิรับมรดก ส่วนผู้สืบสันดานชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่ ผู้สืบสันดานชั้นลูกเท่านั้นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกส่วนชั้นหลานเหลนมีสิทธิก็เพียงแต่จะรับมรดกแทนที่เท่านั้น เช่น ก. มีลูกคือ ข. ข. มีลูกคือ ค. ค. มีลูกคือ ง. ผู้สืบสันดานของ ก. ก็คือ ข. ค. และง. แต่ผู้สืบสันดานชั้นสนิทติดเจ้ามรดกก็คงได้แก่ ข. ลูกของ ก. เจ้ามรดกเท่านั้น ส่วนผู้สืบสันดานชั้นถัดลงไป คือ ค. เป็นผู้สืบสันดานชั้นหลาน ง. เป็นผู้สืบสันดานชั้นเหลนไม่มีสิทธิรับมรดก จึงเป็นอันว่าหาก ก. ตายลงไปโดย ข. ค. และ ง. ยังมีชีวิตอยู่ ข. เท่านั้นมีสิทธิรับมรดกของ ก. ส่วน ค. ง. อาจมีสิทธิก็โดยการรับมรดกแทนที่ ข. หรือ ค. ตามลำดับ เช่น ข.ตายก่อน ก. ต่อมา ก. ตาย เช่นนี้ในส่วนที่ ข.มีสิทธิรับมรดกของ ก. นั้น ค. ลูกของ ข. ก็เข้ารับมรดกแทนที่ ข.ไป ฉะนั้นหลานๆ เหลนๆ เฉยไว้ก่อน


6.ทายาทลำดับเดียวกันได้เท่านั้น
สำหรับส่วนแบ่งนั้นถ้าลำดับใดมีสิทธิได้รับมรดกก็ได้เท่ากัน เช่น เจ้ามรดกมีผู้สืบสันดานชั้นลูกห้าคนก็ได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ในเรื่องทายาทอันดับหนึ่งและอันดับสองนั้นคือ ลูกของเจ้ามรดกกับพ่อแม่ของเจ้ามรดก ในการแบ่งมรดกก็ให้พ่อแม่ได้รับส่วนแบ่งเหมือนเป็นลูกไม่ใช่ให้พ่อแม่เป็นลูกเจ้ามรดกนะครับอย่าเพิ่งโกรธพาลน้อยอกน้อยใจไม่รับมรดกลูกเสียล่ะก็หมายความว่าได้รับส่วนแบ่งมรดก ดังนี้ พ่อคนหนึ่งเท่ากับลูกคนหนึ่ง แม่คนหนึ่งเท่ากับลูกคนหนึ่ง เช่น ก. เจ้ามรดกมีลูก 3 คน พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะ ก. ตายมีเงิน 500,000 บาทดังนั้น ทั้งลูกทั้งพ่อแม่เจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกโดยมีส่วนแบ่งเท่ากัน ลูก 3 ส่วน พ่อแม่ถือเป็นลูกได้ 2 ส่วน รวม 5 ส่วน แบ่งแล้วส่วนละ 100, 000 บาท ก็ได้คนละแสนบาท

7. ทายาทที่เป็นคู่สมรสคือสามีหรือภริยาได้รับส่วนแบ่งอย่างไร
ทางฝ่ายคู่สมรสคือสามีหรือภริยาของเจ้ามรดกบ้าง มีสิทธิได้รับกับเขาบ้างไหม แค่ไหน เพียงไร ไม่น่าถามเลย ถ้าไม่ได้ก็บ้านแตกแน่ โดยเฉพาะภริยายังไงก็ต้องได้แน่ๆ ทางฝ่ายคู่สมรสนี้จะได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทีเดียวแหละ ดูตามแผนผังจะเห็นได้ชัดทีเดียว คือถ้าเจ้ามรดกตายยังมีลูกอยู่หรือหลานแทนที่ลูกอยู่ และคู่สมรสซึ่งอาจเป็นสามีหรือภริยายังมีชีวิตอยู่ ท่านว่าให้ถือว่าเป็นลูกนั่นเอง เช่น สามีตาย ขณะตายมีลูก 2 คน และภริยาดังนี้ มรดกก็แบ่งเป็น 3 ส่วน ลูกได้คนละส่วน ภริยาก็ได้ไปอีกส่วนหนึ่ง เป็นต้น คู่สมรสอย่าไปตกอกตกใจว่าได้น้อย เพราะท่านได้ในฐานะเป็นสินสมรสมาครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เอามาแบ่งนี้เป็นมรดก หรือส่วนของสามีหรือภริยาท่านเท่านั้น ทีนี้ถ้าขณะเจ้ามรดกตาย เจ้ามรดกมีลูก 2 คน พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ สามีหรือภริยาเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่ ดังนี้ ทายาทเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกก็ได้แก่ลูก 2 คน พ่อแม่เจ้ามรดก สามีหรือภริยาเจ้ามรดก
ฉะนั้น เมื่อมีลูกอยู่ให้ถือว่าพ่อแม่หรือสามีหรือภริยาของเจ้ามรดกได้รับส่วนแบ่งเหมือนลูก ก็เรียกกันง่ายๆ ว่าได้เท่ากับลูก เป็นอันว่าลูก 2 คน ก็สองส่วน พ่อแม่รวม 2 คน ก็สองส่วน ภริยาหรือสามีก็หนึ่งส่วน รวมเป็น 5 ส่วน ฉะนั้น ถ้าเจ้ามรดกมีทรัพย์สินตีเป็นเงิน 500,000บาท ก็ได้ไปคนละแสนบาท ทีนี้ถ้าเจ้ามรดกยังไม่มีลูกเลยแต่มีพ่อแม่อยู่และสามีหรือภริยาอยู่ ดังนี้สามีหรือภริยาเจ้ามรดกได้มากขึ้น คือได้ครึ่งหนึ่งของกองมรดกเลย ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งก็ได้แก่ พ่อแม่ของเจ้ามรดก เช่น ขณะตายมีทรัพย์สินเป็นเงิน 1,000,000 บาท ก็แบ่งให้สามีหรือภริยาของเจ้ามรดกไปก่อนครึ่งหนึ่งคือ 500,000 บาท อีกครึ่งหนึ่งคือ 500,000 บาท ก็ให้พ่อแม่ของเจ้ามรดกไป
***จะเห็นว่าสามีหรือภริยาของผู้ตายนั้นจะได้มากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าหากเจ้ามรดกมีทายาทห่างๆ ออกไป เช่น อันดับ 4 พี่น้องร่วมแต่บิดามารดาของเจ้ามรดก หรืออันดับ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดก หรืออันดับ 6 สุดท้าย ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดก แล้วสามีหรือภริยาของเจ้ามรดกจะได้ถึงสองในสามส่วน เช่น ขณะเจ้ามรดกตายมีทายาทที่เป็นญาติได้แก่ ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดกนั้น และมีสามีภริยาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทที่เป็นคู่สมรส ถ้าเจ้ามรดกมีทรัพย์สินคิดเป็นเงิน 300,000 บาท คู่สมรสก็เอาไปสองในสามส่วนคือเอาไป 200,000 บาทอีกหนึ่งในสามส่วน คือ 100,000 บาท ก็ให้ลุง ป้า น้า อาไป ถ้ามีอยู่สี่ท่านดังกล่าวก็ได้ไปคนละ 25,000 บาท เป็นต้น
เรียกว่า สามีภริยาได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะชอบด้วยเหตุผล ผัวเมียขืนได้น้อยกว่าก็แย่นะสิ ว่ากันจริงๆ แล้วที่เราท่านพบกันอยู่เสมอๆ ผู้ที่จะได้ส่วนแบ่งมรดกก็คือบุตรกับสามีหรือภริยาเจ้ามรดกเท่านั้น ส่วนพ่อแม่เจ้ามรดกก็อาจตายไปก่อนแล้ว แต่แม้มีชีวิตอยู่ท่านก็ไม่เอาด้วย ให้หลานๆ ไปก็เป็นสิทธิของท่าน #### แต่จะยุ่งยากมากก็กรณีเจ้ามรดกที่เป็นชายไปเที่ยวมีลูกอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ไปอยู่จังหวัดไหนก็ไปมีภริยาน้อยไว้ที่นั่นจนมีลูกด้วยกัน พอตายลงก็แห่กันมาเผาศพ ทำเอาภริยาแท้จริงของเจ้ามรดกดีอกดีใจว่าผู้ตายช่างมีพรรคพวกมากมายจริงๆ มีบุญญาธิการเหลือเกิน ที่ไหนได้ปรากฏว่าเป็นภริยาน้อยซึ่งเป็นการเรียกกันทั่วๆไป ความจริงแล้วภริยาประเภทนี้เรียกกันว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามกฎหมายของเรานั้นบังคับให้มีผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น คือที่ต้องไปจดทะเบียนสมรสนั่นเอง ฉะนั้น ประเภทนี้ไม่มีสิทธิได้มรดกของสามี ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากได้หรอกครับ เพราะเจ้ามรดกขนมาให้มากแล้วตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ แหวนเพชรเอย ตุ้มหูเพชรเอย สร้อยมุกเอย บ้านเอย ที่ดินเอย ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรเรียบร้อยแล้ว อมยิ้มลูกเดียว แต่ส่งลูกมาประกบขอแบ่งด้วย ยังมีสิทธิลุ้นครับประเภทนี้ก็คือลูกนอกกฎหมายนั่นเอง แต่เจ้ามรดกรับรอง เช่น ส่งเสียให้ค่าเล่าเรียนแสดงออกให้ปรากฏว่าเป็นบุตรเช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ระบุไว้ในใบเกิดว่าเป็นบิดาหรือระบุไว้ในสำเนาทะเบียนบ้านว่าเป็นบิดา เป็นต้น ลูกพวกนี้มีสิทธิรับมรดกเช่นกัน ก็น่าเห็นใจลูก ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรหลงโคจรมาเกิดเช่นนี้ ที่ว่ารับรองในที่นี้ก็มิใช่ว่าไปจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรที่อำเภอ ถ้าอย่างนั้นเขามีสิทธิได้รับมรดกเต็มที่อยู่แล้ว การรับรองที่กล่าวถึงคือการแสดงออกโดยพฤติการณ์ทั่วไปของชาวบ้านเรานี้เองว่าเป็นลูก พูดแล้วก็น่าเห็นใจเกิดมาเป็นข้าวนอกนาก็อย่างนี้แหละ


8. ภริยาหลวงภริยาน้อยตามกฎหมายมีสิทธิในมรดกอย่างไรหรือไม่
เรื่องคู่สมรสของเจ้ามรดกนี้ท่านเห็นคำว่า ภริยาหลวงภริยาน้อย ก็อาจเอะใจสงสัยอันนี้เป็นเรื่องตกค้างมาตั้งแต่สมัยก่อนครับ คือ ผัวเมียตามกฎหมายเก่าที่มีใช้กันอยู่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 สมัยนั้นเขามีภริยามากได้ คือมีภริยาหลวงและก็มีประเภทเล็กๆ ลงไปอีกหลายคน พวกนี้ก็เรียกกันว่าภริยาน้อย อิจฉาผู้ชายสมัยนั้นจริงๆ ไม่ทราบว่าตอนนี้มีใครเหลืออยู่บ้างจะไปขอสัมภาษณ์หน่อยถึงความหลังอันสุโขของท่านว่า ท่านมีวิทยายุทธ์อันล้ำลึกอย่างไร ศึกษามาจากสำนักไหนถึงมีภริยาไว้ได้หลายคนในเวลาเดียวกันและมีหยูกยาโบราณขนานใดบำรุงกำลังทำเอายาสมัยนี้หมดท่าไปเลย มิหนำซ้ำกลับมีโรคหดโรคจู๋คุกคามอีก สมัยนั้นไม่ทราบว่ามีหรือเปล่า สมัยที่ว่านั้นถือว่ามีภริยาหลายคนได้ และอาจอยู่ด้วยกันมาจนถึงปัจจุบัน กฎหมายครอบครัวเราสมัยใหม่คือที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 จึงได้กำหนดทางแก้เอาไว้ว่าภริยาที่ว่านั้นอาจมีชีวิตยืนยาวมาถึงขณะนี้ทั้งคู่คือทั้งหลวงและน้อย และสามีเพิ่งมาตายขณะนี้ แล้วส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ได้มาก็ต้องซอยมาอีกที คือให้ภริยาน้อยแต่ละคนได้ครึ่งหนึ่งของภริยาหลวง เช่น สามีภริยาตามกฎหมายเก่าสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2475 และยังมีภริยาน้อยอีก 2 คน เมื่อ พ.ศ. 2476,2477 ตามลำดับ ก็อยู่กินกันมาจนถึงเวลานี้สามีเพิ่งตาย และมีการแบ่งมรดกของผู้ตายแล้ว โดยส่วนของภริยาได้มาคิดเป็นเงิน 4,000,000 บาท ฉะนั้นระหว่างภริยาด้วยกัน ก็มาแบ่งกันอีก กรณีนี้ มีภริยาน้อยอยู่สองคนมีสิทธิได้ครึ่งหนึ่งของภริยาหลวงก็คิดกันง่ายๆ ว่า ภริยาหลวงๆ ได้ 2 ส่วน ภริยาน้อยได้คนละ 1 ส่วน รวมสองคนเป็น 2 ส่วน รวมทั้งหมดเป็น 4 ส่วน ภริยาหลวงได้ไปสองส่วนเป็นเงิน 2,000,000 บาท ภริยาน้อยคนละ 1 ส่วน เป็นเงินคนละ 1,000,000 บาท เป็นอันว่าภริยาน้อยแต่ละคนก็ได้ครึ่งหนึ่งของภริยาหลวง ปัจจุบันกฎหมายรับรองภริยาเพียงคนเดียว จะนำหลักนี้มาใช้ไม่ได้ ก็หาทางใช้ลูกเล่นเอาเองก็แล้วกัน สำหรับผู้เป็นภริยาน้อยสมัยใหม่ที่ไม่มีกฎหมายรับรองฐานะท่านไว้


9.ลองมาแบ่งมรดกของผู้ตายกัน
เผื่อสักวันเขาเชิญไปแบ่ง ท่านควรจะดูแผนผังประกอบด้วย แบ่งง่ายๆ เล่นไม่ยากเมื่อดูตามตัวอย่าง ก็อาจมีอาชีพใหม่เป็นผู้เชี่ยวชาญการแบ่งมรดก อย่างไรก็ตามแบ่งให้ดีๆ ก็แล้วกัน ถ้าแบ่งให้เขาทะเลาะกันดีไม่ดีผู้แบ่งจะถูกล่าข้ามทวีปเอาได้
อุทาหรณ์ที่ 1
นาย ก. ขณะตายมีบุตรอยู่สองคน ภริยาตายไปก่อนแล้ว บิดามารดาของนาย ก. ก็ตายไปนานแล้ว นาย ก. มีทรัพย์สินอันเป็นกองมรดกทั้งบ้านเรือนและที่ดินรวมทั้งเงินสด คือคำนวณเป็นเงินรวมเบ็ดเสร็จ 101,000 บาท ดังนี้ ทายาทของนาย ก. ก็คือบุตรสองคน ซึ่งเป็นทายาทอันดับ 1 มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเท่ากัน มีอยู่สองคนก็แบ่งทรัพย์มรดกออกเป็นสองส่วนเท่ากันบุตรของนาย ก. ได้ไปคนละหนึ่งส่วนเท่ากันคือ คนละ 50,500 บาท
อุทาหรณ์ที่ 2
นาย ก. มีนาง ข.เป็นภริยา ยังไม่มีบุตรไม่มีทายาทอื่นๆ เลย บิดามารดาของนาย ก.ตายไปนานแล้ว ดังนี้ ถือว่านาย ก. มีทายาทเฉพาะนาง ข. ที่ เป็นคู่สมรสเท่านั้น มรดกของนาย ก. ทั้งหมดจึงตกได้แก่ นาง ข. คนเดียว
อุทาหรณ์ที่ 3
นาย ก. แต่งงานกับนาง ข. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมาได้ 15 ปี แล้ว มีลูกด้วยกันสามคน ซึ่ง นาย ก. ก็อุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียค่าเล่าเรียนและอยู่ร่วมบ้านเดียวกันตลอดมาแสดงให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่า บุคคลเหล่านี้เป็นภริยาและบุตรของตน นาย ก. ตายลงโดยไม่มีทายาทอื่นอีกเลย มีทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 1,200,000 บาท ดังนี้ สำหรับนาง ข. ภริยานั้นเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนาย ก. ตามกฎหมายปัจจุบันบังคับไว้ จึงไม่ใช่ภริยาถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นทายาทที่เป็นคู่สมรส ไม่มีสิทธิรับมรดกนาย ก. ส่วนบุตรสามคนก็เป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย ก. ไม่ได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรจึงเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกว่าเป็นดอกผลของข้าวนอกนา แต่กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการรับรองโดยพฤติการณ์ มีสิทธิรับมรดกบุตรทั้งสามของนาย ก. จึงมีสิทธิรับมรดกโดยได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคนละ 400,000 บาท

อุทาหรณ์ที่ 4
นาย ก. มีบุตรสองคน ภริยาและบิดามารดาของนาย ก. ยังมีชีวิตอยู่ นาย ก. ตายมีทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 500,000 บาท ดังนี้ ทายาท ของนาย ก. ได้แก่บุตรบิดามารดาและภริยาของนาย ก. โดยบิดามารดาและภริยา นาย ก. ได้รับส่วนแบ่งเหมือนทายาทชั้นบุตรของนาย ก. ดังนั้นบุตรสองคนเป็น 2 ส่วน ภริยา 1 ส่วน รวมเป็น 5 ส่วน มรดกรายนี้จึงตกได้แก่บุตรคนละ 100,000 บาท บิดามารดาคนละ 100,000 บาท และภริยาได้ 100,000 บาท
อุทาหรณ์ที่ 5
นาย ก. มีบิดามารดาและภริยา แต่ไม่มีบุตร ดังนี้ หากนาย ก. มีมรดก 200,000 บาท ภริยาก็ได้ไปก่อนครึ่งหนึ่ง คือ 100,000 บาท อีก 100,000 บาท ได้แก่บิดามารดาไป หากมีแต่บิดาหรือมารดาก็ได้ไปคนเดียว
อุทาหรณ์ที่ 6
นาย ก.มีบิดามารดาและพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ทายาทอื่นไม่มีอีก ดังนี้บิดามารดาของนาย ก. ซึ่งเป็นทายาทอันดับสองได้มรดกไป ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของนาย ก. ซึ่งเป็นทายาทลำดับสามไม่มีสิทธิ
อุทาหรณ์ที่ 7
นาย ก. ทายาทของนาย ข. ผู้ตาย นาย ข.ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นาย ก. ห้าแสนบาท แต่ยังมีทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมอีกประมาณหนึ่งล้านบาท นาย ข.ยังมีทายาทอื่นอีก ดังนี้ ปัญหามีว่านาย ก. จะมีสิทธิในส่วนแบ่งของทรัพย์สินก้อนหลังนี้หรือไม่ ดังนั้นถือว่านาย ก.เป็นทายาทสองฐานะคือผู้รับพินัยกรรม 500,000 บาท และทายาทโดยธรรมอีกฐานะหนึ่ง มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินหนึ่งล้านบาทด้วย โดยได้รับแบ่งตามหลักเกณฑ์และอุทาหรณ์ในตอนต้น


10.ถ้าไม่มีทายาทมรดกได้แก่ใคร
ถ้าไม่มีทายาท มรดกตกได้แก่แผ่นดิน คือตกเป็นของรัฐบาลไป แต่จริงๆ แล้วก็มักจะมีทายาทมาขอรับจนได้


11. อายุความมรดก
อายุความมรดก โดยทั่วไปแล้วควรถือหนึ่งปีเป็นเกณฑ์ไว้ก่อน คือต้องดำเนินการอะไรให้แล้วเสร็จเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายเป็นการดีที่สุด ถึงแม้อาจมีข้อยกเว้นว่ามีอายุความสิบปีหรือไม่มีอายุความ ซึ่งก็มักมีปัญหามาก หากรีบจัดการภายในหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตายก็จะปลอดภัย

 

  2010 © PATTANATHAM